โรคมาลาเรีย

โรคมาลาเรีย

มาลาเรียยังเป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่พบในประเทศแถบแอฟริกา ในเมืองไทยยังมีอยู่บ้าง มักพบตามจังหวัดชายแดน เช่น ระนอง ยะลา แม่ฮ่องสอนกาญจนบุรี จันทบุรี มักพบในบริเวณเขตที่เป็นป่าเขาและใกล้เคียง โดยมาลาเรียเกิดจากเชื้อโรคโปโตซัวมีชื่อว่า \"พลาสโมเดียม\"ในเมืองไทยเจอหลายชนิด แต่ที่สำคัญมีอยู่ 2 ชนิด คือ

1. ชนิดรุนแรง ชื่อ พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม เรียกย่อๆ ว่า พี-เอฟ จะมีอาการหนักถึงขั้นหมดสติ และถ้าไม่ได้รักษาอาจตายในเวลาอันรวดเร็ว

2. ชนิดเรื้อรัง ชื่อพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ เรียกย่อๆ ว่า พี-วี อาการไม่ค่อยรุนแรงถึงตาย แต่ถ้ารักษาไม่ถูกต้อง เชื้อจะอยู่ในร่างกายถึง 2 ปี หรือนานกว่านี้ ทำให้มีอาการเป็นๆ หายๆ

 

พาหะนำโรค

  • ยุงก้นปล่อง

 

อาการของมาลาเรีย

อาการมาลาเรียช่วงแรกระยะ 2-3 วัน จะเหมือนหวัด จึงจะเข้าสู่ระยะไข้ 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะหนาว จะรู้สึกหนาวสั่น ปากซีด ใจสั่น ตัวเย็น ห่มผ้าก็ไม่หาย ผ่านไป 1-2 ชั่วโมงจะเริ่มรู้สึกร้อน

  2. ระยะร้อน จะมีไข้สูง หน้าแดง กระหายน้ำ ประมาณ 1-4 ชั่วโมงผ่านไป ก็จะเข้าสู่ระยะเหงื่อ

  3. ระยะเหงื่อ หลังจากหนาว ๆ ร้อน ๆ ก็จะเริ่มมีเหงื่อออก เพลีย แล้วก็จะหายเป็นปกติ หลังจากนั้น 2-3 วัน จะเริ่มมีอาการตั้งแต่ข้อ 1-3 ใหม่ สลับกันไปเรื่อยๆ

 

การรักษา

  1. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อให้โรคหายขาดและป้องกันการดื้อยา

  2. อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาฉีดเข้าหลอดเลือดเพื่อรักษามาลาเรีย ผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือ เพื่อการหายขาดและไม่เกิดภาวะดื้อยาเช่นกัน

 

วิธีการป้องกันโรคมาลาเรีย

  1. ระวังไม่ให้ยุงกัด นอนในมุ้ง

  2. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

  3. หากมีความจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย อาจปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับประทานยาป้องกันโรมาลาเรีย

 

 

ข้อมูลจาก https://www.tm.mahidol.ac.th/