ลิ้นหัวใจรั่ว

ลิ้นหัวใจรั่ว

       โรคหัวใจเป็นหนึ่งในโรคที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง การระวังป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจ หลายคนคงทราบดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเป็นประจำ ฯลฯ แต่ทราบหรือไม่ว่านอกจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ แล้ว ‘ลิ้นหัวใจรั่ว’ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ ซึ่งลิ้นหัวใจเกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรง ถ้าหากเกิดรั่วหรือทำงานผิดปกติ หัวใจก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่หรืออาจถึงขนาดหัวใจวายได้เลยทีเดียว 

 

การทำงานของลิ้นหัวใจ

       ลิ้นหัวใจ เป็นเนื้อเยื่อที่กั้นห้องของหัวใจทั้ง 4 ห้อง ทำหน้าที่หลัก คือ กั้นให้เลือดไหลไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดเป็นปกติ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะหากเลือดหยุดไหลเวียนเมื่อไรจะทำให้เสียชีวิต

 

อาการลิ้นหัวใจรั่ว

       ลิ้นหัวใจที่มีปัญหาส่วนใหญ่มักอยู่ฝั่งซ้าย เพราะฝั่งซ้ายทำหน้าที่ปั๊มเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ความดันจึงสูงกว่า พอบีบตัวแรง เลือดก็พุ่งแรงทำให้ลิ้นหัวใจเกิดความเสียหายมาก ส่วนใหญ่เรามักพบโรคลิ้นหัวใจรั่วในผู้สูงอายุ มีบ้างที่พบในเด็ก

       อาการที่พบ ได้แก่ หอบ เหนื่อย ไม่มีแรง หน้ามืดเป็นลมบ่อย ๆ อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจ เนื่องจากหลอดเลือดและลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ กรอบ แข็ง ความยืดหยุ่นน้อยและมีไขมัน หินปูนเกาะ ทำให้ลิ้นหัวใจเปิด – ปิดไม่สนิท 

 

โรคที่เกิดจากลิ้นหัวใจ

โรคที่เกิดจากลิ้นหัวใจมี 3 ประเภท คือ

  1. ลิ้นหัวใจรูห์มาติก (Rheumatic Heart Disease) เกิดจากการติดเชื้อในลำคอหรือผิวหนัง และทำให้เกิดการสร้างภูมิต้านทาน ส่งผลให้มีการทำลายเนื่อเยื่ออื่น ๆ รวมทั้งลิ้นหัวใจ เมื่อลิ้นหัวใจถูกทำลายจะมีพังพืดและหินปูนเกาะ ทำให้ลิ้นหัวใจเปิด – ปิดไม่ดีเหมือนปกติ หัวใจจึงต้องทำงานหนักมากขึ้น

  2. ลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพตามวัย (Degenerative) เกิดจากการที่ลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพตามอายุ ส่วนใหญ่พบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อที่เสื่อมสภาพไป ทำให้ลิ้นหัวใจผิดรูป เกิดการเปิด – ปิดที่ไม่สนิท ซึ่งจะทำให้เกิดอาการโรคลิ้นหัวใจรั่วได้

  3. เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ ทำให้เกิดการตายของกล้ามเนื้อ หัวใจจะอ่อนแรงเมื่อเป็นมากขึ้น อาจทำให้เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว ส่วนใหญ่จะเป็นกับคนอายุ 50 – 60 ปี

 

รักษาโรคลิ้นหัวใจ

       ปัจจุบันการรักษาได้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่เปิดหน้าอก การผ่าตัดแผล ทำให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น ความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนลดน้อยลง

 

ที่มา โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ https://www.bangkokhearthospital.com/