โรคหัวใจโต (Cardiomegaly)

โรคหัวใจโต (Cardiomegaly)
         

       หลายท่านเมื่อไปเอกซเรย์ปอดแพทย์จะบอกว่าหัวใจโต ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลเป็นอันมาก คำว่าหัวใจโตไม่ใช่โรคเป็นเพียงสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจร่างกายหรือการดูเอกซเรย์ แพทย์จำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยอย่างอื่นเพื่อหาสาเหตุของหัวใจโต

       ผู้ที่หัวใจโตส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีอาการหากหัวใจยังทำงานปกติ แต่หากหัวใจทำงานผิดปกติจะเกิดอาการต่างๆจากโรคที่เป็น อาการต่างๆ ได้แก่
     • หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
     • หายใจเร็ว
     • เวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย
     • ใจสั่น
     • บวมบริเวณเท้าตอนสายๆ
     • ไอโดยเฉพาะเวลานอน
     • นอนราบไม่ได้เนื่องจากแน่นหน้าอก

สาเหตุของหัวใจโต
ผู้ที่หัวใจโตบางท่านอาจจะไม่มีสาเหตุแต่ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุ ได้แก่
     • ความดันโลหิตสูง สำหรับท่านที่ความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่องหัวใจท่านจะทำงานหนักจึงทำให้หัวใจโต
     • ท่านที่มีโรคลิ้นหัวใจ ไม่ว่าจะลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว หรือมีการอักเสบติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ โรคต่างๆเหล่านี้จะทำให้หัวใจโต
     • โรคของกล้ามเนื้อหัวใจเอง ที่เรียกว่า cardiomyopathy เช่นผู้ที่ดื่มสุราเป็นเวลานานกล้ามเนื้อหัวใจจะถูกทำลายทำให้หัวใจโต
     • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เช่น ผนังหัวใจรั่ว เป็นต้น
     • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติก็จะทำให้หัวใจโต
     • ผู้ที่เป็นโรคความดันในปอดสูง
     • ผู้ที่มีโลหิตจางหรือซีดเป็นเวลานาน
     • โรคของต่อมไทรอยด์ไม่ว่าต่อมจะทำงานมากไปหรือน้อยไปก็ทำให้เกิดหัวใจโต
     • สำหรับท่านที่รับประทานธาตุเหล็กมากไปจะมีการสะสมธาตุเหล็กเกิดโรค hemochromatosis
     • มีความผิดปกติเกี่ยวกับโปรตีนทำให้มีการสะสมโปรตีนในกล้ามเนื้อหัวใจที่เรียกว่า Amyloidosis


การป้องกันหัวใจโต
     • สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เช่น อ้วนไม่ได้ออกกำลังกาย มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสในการเกิดความดันโลหิตสูง สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงแล้วต้องรับประทานยาและปฏิบัติตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด
     • สำหรับโรคทางพันธุกรรมคงจะหลีกเลี่ยงยาก แต่อาจจะหยุดโรคโดยสอบประวัติครอบครัว หากภรรยา/สามี
มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์
     • รักษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบคือ ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น

 

ที่มา : https://www.ams.cmu.ac.th/