ปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติ

ปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติ

การปวดประจำเดือนอาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือปวดประจำเดือนชนิดไม่รุนแรง (Primary Dysmenorrhea) และปวดประจำเดือนชนิดรุนแรง (Secondary Dysmenorrhea)

1. ปวดประจำเดือนชนิดไม่รุนแรง

ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีอาการปวดรอบประจำเดือน จะเป็นการปวดชนิดที่ 1 ประมาณกันว่าร้อยละ 70-80 ของผู้ที่ปวดรอบประจำเดือนจะเป็นภาวะปวดรอบประจำเดือนชนิดที่ไม่รุนแรงนี้ โดยมากมักมีอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เมื่อได้พักผ่อน รักษาดูแลด้วยตนเอง หรือได้รับยาบางชนิด อาการปวดก็จะทุเลาเบาบางลง สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

มักเริ่มมีอาการปวดประจำเดือนตั้งแต่เป็นวัยรุ่น หรือเริ่มเข้าสู่วัยสาว โดยจะเริ่มปวดรอบเดือนหลังจากเริ่มมีรอบประจำเดือนครั้งแรกถึง 3 ปีหลังเริ่มมีรอบประจำเดือน และระดับการปวดรอบเดือนอาจมากขึ้นจนสูงสุดในช่วงอายุระหว่าง 15-25 ปี และเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น อาการจะเริ่มดีขึ้น บางรายจะหายไปเองเมื่อแต่งงานหรือมีบุตร

สาเหตุของการปวดประจำเดือนชนิดนี้ คือปากมดลูกหรือมดลูกตึงแน่นเกินไป การไหลเวียนของเลือดยังไม่ดีพอ หรือมีการแปรปรวนของฮอร์โมน

2. ปวดประจำเดือนชนิดรุนแรง

การปวดรอบประจำเดือนชนิดนี้ มักมีอาการปวดรุนแรงถึงรุนแรงมาก จนทำให้รบกวนการทำงานหรือเรียนหนังสือ ทำให้ขาดงาน หรือขาดเรียนได้ และเมื่อใช้ยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ก็ได้ผลเพียงเล็กน้อย หรือไม่ได้ผลเลย

ปวดประจำเดือนชนิดรุนแรง หรือปวดประจำเดือนทุติยภูมิ มักเริ่มมีอาการครั้งแรกเมื่ออายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติของอวัยวะภายใน เช่น ผนังมดลูกงอกผิดที่ (endometriosis) เนื้องอกที่มดลูก ความผิดปกติของมดลูก หรือความผิดปกติของรังไข่ เป็นต้น

ปวดประจำเดือนชนิดนี้พบได้ประมาณร้อยละ 20-30 ของผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือน ซึ่งควรไปปรึกษาแพทย์ หรือสูติ-นารีแพทย์ เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ตั้งแต่เนิ่นๆ

การรักษา

การดูแลรักษาอาการปวดประจำเดือนง่ายๆ ด้วยการใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบ ณ ตำแหน่งที่มีอาการปวด หรือจะเลือกใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน กรดมีเฟนามิก ไอบูโพรเฟน เป็นต้น

ในรายที่มีอาการปวดเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง การใช้ยาพาราเซตามอล ขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม หรือแอสไพริน เม็ดละ 300 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน หรือทุก 4-6 ชั่วโมง (เวลาปวดรอบเดือน) ก็สามารถบรรเทาอาการปวดรอบประจำเดือนได้เป็นอย่างดี

แต่รายที่มีอาการระดับปานกลางถึงมาก อาจแนะนำให้ใช้ยากรดมีเฟนามิก เม็ดละ 250-500 มิลลิกรัม หรือไอบูโพรเฟน 200-400 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที ก็จะได้ผลดีเช่นกัน

บางกรณีอาจใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายใน เช่น ไฮออสซีน เป็นต้น มาใช้เพื่อบรรเทาอาการ หรือใช้ร่วมกับยาแก้ปวดข้างต้น เพื่อช่วยกันบรรเทาอาการปวดประจำเดือนก็ได้ผลดีเช่นกัน

เมื่ออาการทุเลาเบาบางแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาต่อไปอีก สามารถหยุดการใช้ยาได้เลย เพราะยาชนิดนี้เป็นยาบรรเทาอาการเท่านั้น

นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการปวดประจำเดือนมาเป็นประจำจนสามารถคาดเดา ทำนาย หรือพยากรณ์ วันเวลาและการเกิดอาการปวดประจำเดือนได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจใช้ยาแก้ปวดในระยะเวลาก่อนที่จะมีการปวดประจำเดือนเพียงเล็กน้อย เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว พร้อมทั้งไม่ต้องให้เกิดอาการปวดก่อนที่จะเริ่มการใช้ยาได้

ถึงตอนนี้คงพอแยกแยะชนิดของการปวดประจำเดือนได้แล้ว ว่าแบบใดเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง (การปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ) พร้อมทั้งให้การดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองได้ และถ้าเป็นชนิดรุนแรง (ชนิดที่ 2) ซึ่งควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ยังได้ทราบถึงยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายในที่ใช้ตัวเดียว หรือใช้ร่วมกันสำหรับบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ตลอดจนวิธีใช้ที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของการใช้ยา

หากมีคำถามหรือปัญหา เรื่องยาและสุขภาพ ก็สามารถไปปรึกษากับเภสัชกรชุมชนที่ประจำอยู่ที่ร้านยาใกล้บ้าน ทั้งนี้เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาแก้ปัญหาสุขภาพอย่างทันท่วงที ใกล้ตา ใกล้ใจ และถ้ามีความจำเป็นเภสัชกรก็จะให้คำแนะนำให้ไปพบแพทย์หรือรับการตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป

 

 

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ / https://1th.me/kCdua