การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก : ESWL

การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก : ESWL

การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก เป็นการส่งคลื่นเสียงความถี่ต่ำที่มีพลังงานสูงผ่านผิวหนังไปยังก้อนนิ่ว ทำให้ก้อนนิ่วแตกเป็นผง โดยไม่ทำให้เกิดบาดแผลบริเวณผิวหนัง

 

ข้อบ่งชี้ในการทำ ESWL

ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นนิ่วในไตหรือท่อไต

 

ข้อดีของการทำ ESWL

  • ไม่มีบาดแผล

  • ไม่ต้องดมยาสลบ

  • ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล(จะแจ้งให้ทราบ หากแพทย์ประเมินพบว่าจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล)

 

ข้อจำกัดในการทำ ESWL

  • ขนาด นิ่วในไตมีขนาดเกิน 2 เซนติเมตร และนิ่วในท่อไตมีขนาดเกิน 1-1.5 เซนติเมตร  

  • ชนิด เป็นนิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลตโมโนไฮเดรต นิ่วแคลเซียมฟอสเฟต และนิ่วซีสตีน เพราะไม่ตอบสนองกับการรักษา

  • มีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะในส่วนที่อยู่ต่ำกว่าก้อนนิ่ว

  • มีความผิดปกติของไตข้างที่จะทำการสลายนิ่ว               

ข้อห้ามในการทำ ESWL

  1. ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์

  2. ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตไม่คงที่

  3. ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะที่ยังควบคุมไม่ได้

  4. ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด

  5. ผู้ป่วยมีเส้นเลือดโป่งพองในช่องท้อง

 

การเตรียมตัวก่อนทำ ESWL

  • ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร แต่ไม่ควรรับประทานมากจนอิ่มเกินไป (เพราะอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้)

  • ยาประจำตัวทุกชนิด เช่น ยาลดความดัน ยาเบาหวาน ให้รับประทานยาตามปกติ เว้นแต่ยามีฤทธิ์ห้ามการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน หรือ วาฟาริน ซึ่งต้องงดก่อนหน้าการสลายนิ่วอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือตามคำสั่งแพทย์

  • ควรแจ้งประวัติการแพ้ยาต่างๆ

  • ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอในคืนก่อนมาสลายนิ่ว

 

การปฏิบัติตัวหลังทำ ESWL

  • ดื่มน้ำให้อย่างน้อย 3 ลิตรต่อวัน เพื่อขับนิ่วที่แตกออกมากับปัสสาวะที่ใสขึ้น และป้องกันการเกิดนิ่วใหม่ (กรณีมีโรคประจำตัวที่มีข้อห้ามในการดื่มน้ำควรปรึกษาแพทย์)

  • รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

  • อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนวันนัด คือ มีไข้สูงหนาวสั่น ปัสสาวะเป็นเลือดสดแดงเข้มตลอด หรือน้ำปัสสาวะหากมีลิ่มเลือดหรือแดจางเกินกว่า 1 สัปดาห์ ปวดปัสสาวะแต่ปัสสาวะไม่ออก ปวดท้องหรือปวดหลังมาก และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป

  • มารับการตรวจติดตามและเอกซเรย์ตามนัด เพื่อประเมินนิ่วระบบทางเดินปัสสาวะหลังทำ ESWL ในบางรายอาจจะต้องสลายนิ่วซ้ำ

  • ทั้งนี้เพื่อให้นิ่วสลายหมด อาจจะต้องทำ 1-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างประมาณ 1-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของนิ่ว

     

    ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888