ไส้เลื่อน (Hernia)

ไส้เลื่อน

       ไส้เลื่อน (Hernia) คือภาวะที่ลำไส้ยื่นผ่านกล้ามเนื้อช่องท้อง หรือโผล่ยื่นออกสู่ช่องทางอื่นที่สามารถผ่านไปได้ พบได้บ่อยตามบริเวณต่างๆที่เป็นจุดอ่อนแอของกล้ามเนื้อ ได้แก่ บริเวณขาหนีบ กล้ามเนื้อโดยรอบสะดือ บริเวณต้นขา และบริเวณที่เคยได้รับการผ่าตัด

 

สาเหตุของไส้เลื่อน

  1. ความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแต่กำเนิด

  2. การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจากการผ่าตัด

  3. การเสื่อมตามวัยในผู้สูงอายุ

  4. การมีความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นจากการยกของหนัก การไอเรื้อรัง การอาเจียนบ่อยๆ หรือการตั้งครรภ์ เป็นต้น

 

อาการและอาการแสดงของไส้เลื่อน

       คลำพบก้อนเลื่อนเข้าออกได้ในตำแหน่งของไส้เลื่อน หากก้อนนั้นไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้เมื่อผู้ป่วยนอนศีรษะต่ำ ถุงไส้เลื่อนจะบวม ปวด กดเจ็บบริเวณก้อนและมีอาการของลำไส้อุดตัน ได้แก่ ปวดท้อง ไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ผายลม คลื่นไส้ อาเจียน และถ้ามีการบีบรัดและขาดเลือดไปเลี้ยง จะมีอาการปวดที่ไส้เลื่อนมาก หากไม่ได้รับการรักษาลำไส้ส่วนนั้นจะเน่า ทะลุ และเกิดเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบได้

 

การรักษา

แพทย์มักไม่แนะนำให้รักษาด้วยยา เนื่องจากการถูกบีบรัดของอวัยวะยังคงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นการรักษาจึงมี 2 วิธีหลัก ที่นับว่าได้ผลดี

  1. การดันไส้เลื่อนกลับเข้าที่ (Taxis) ซึ่งทำในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการของไส้เลื่อนชนิดบีบรัดและขาดเลือด มีอาการเกิดขึ้นภายใน 6 ชั่วโมง

  2. การผ่าตัด เป็นวิธีที่ดีที่สุด และได้ผลที่เเน่นอน ซึ่งการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 4 วิธี ดังนี้

    • Herniotomy เป็นการตัดเฉพาะถุงไส้เลื่อน ไม่ต้องเย็บซ่อมแซมผนังด้านหลัง มักทำในเด็กเล็ก

    • Herniorrhaphy เป็นการผ่าตัดที่ดี และนิยมที่สุด ให้ผลที่แแน่นอน โดยตัดเอาถุงไส้เลื่อนออกแล้วเย็บซ่อมแซมผนังด้านหลัง มีอยู่หลายเทคนิค อาจจะเย็บปิดด้วยกล้ามเนื้อหรือใช้สารสังเคราะห์ เช่น Mesh

    • Hernioplasty เป็นการซ่อมแซมตกแต่งไส้เลื่อน หลังผ่าตัดไส้เลื่อน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนและกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน ผู้ป่วยบางคนอาจผ่าตัดเป็นผู้ป่วยนอก สำหรับผู้ที่มีการบีบรัดและขาดเลือดหรือมีการอุดตันของลำไส้ อาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน และอาจจะต้องมีการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง

    • Laparoscopic inguinal herniorrhaphy เป็นการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนขาหนีบผ่านกล้อง โดยการสอดกล้องผ่านผิวหนังบริเวณสะดือ แล้วนำภาพขึ้นจอภาพ พร้อมสอดเครื่องมือขนาด0.5-1 เซนติเมตร อีก 2-3 แผล เพื่อทำการผ่าตัด

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888