บิดอะมีบา (Amebiasis)

บิดอะมีบา (Amebiasis)

       บิดอะมีบา (บิดมีตัว) พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในคนอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป

 

สาเหตุ

       เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้ออะมีบา (Ameba) ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียว หรือโปรโตซัว (Protozoa) เช่นเดียวกับเชื้อมาลาเรีย ทำให้เกิดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ หรือที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ เชื้อที่ทำให้เกิดโรคอะมีบา หรือมีชื่อว่าเอนตามีบา ฮิสโตไลติคา (Entamoeba histolytica) ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ จึงเรียกว่า บิดมีตัว

ระยะฟักตัว 1 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน (พบบ่อย 8-10 วัน)

 

อาการ

       เริ่มแรกถ่ายอุจจาระเหลว ๆ มีเนื้ออุจจาระปน ปวดท้อง และปวดเบ่งที่ก้น ไม่มีไข้ ต่อมาจะถ่ายเป็นมูกเลือดทีละน้อย ไม่มีเนื้ออุจจาระปน แต่มีกลิ่นเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า ผู้ป่วยจะถ่ายกะปริดกะปรอยวันละหลายครั้ง บางคนอาจถึง 20-50 ครั้ง แต่จะไม่อ่อนเพลีย ทำงานได้ตามปกติ

 

สิ่งตรวจพบ

       มักตรวจไม่พบอะไรมาก นอกจากอาจมีอาการกดเจ็บเล็กน้อยตรงส่วนล่างของท้องด้านซ้าย

 

อาการแทรกซ้อน

  • ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้อง อาจกลายเป็นโรคบิดเรื้อรัง อ่อนเพลีย ซูบผอม
  • อาจทำให้เป็นไส้ติ่งอักเสบจากเชื้อบิดอะมีบา ลำไส้ทะลุหรือตกเลือด
  • แต่ที่พบบ่อยคือ ฝีในตับ ซึ่งอาจพบหลังเป็นบิดทันที หรือหลังหลายปีแล้วก็ได้

 

การรักษา

  1. รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

  2. หากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจอุจจาระ หรือส่องกล้องทวารหนัก

  3. หากมีอาการปวดท้องและกดเจ็บบริเวณชายโครงขวาอย่างมาก หรือสงสัยเป็นโรคฝีในตับ จะต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยด่วน