การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI)

การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI)

การตรวจเอ็มอาร์ไอ คือการสร้างภาพเหมือนจริงของอวัยวะภายในต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะ สมอง หัวใจ กระดูก-กล้ามเนื้อ และส่วนที่เป็นมะเร็งด้วยคอมพิวเตอร์รายละเอียดและความคมชัดสูง เป็นภาพตามระนาบได้ทั้งแนวขวาง แนวยาวและแนวเฉียง เป็น 3 มิติ ภาพที่ได้จึงจะชัดเจนกว่า การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แบบ CT-Scan โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging : MRI) ซึ่งเป็นคลื่นสนามแม่เหล็กความเข้มสูงและคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ ทำให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติในร่างกายได้อย่างแม่นยำ

 

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ MRI

  1. ตรวจหาความผิดปกติของสมอง เช่น สมองขาดเลือดเนื้องอกสาเหตุการชักการอักเสบติดเชื้อของเนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมอง

  2. ตรวจหาความผิดปกติของระบบกระดูกสันหลังและไขสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อนเนื้องอกไขสันหลังการติดเชื้อบาดเจ็บไขสันหลัง

  3. ตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ กระดูกส่วนต่างๆ รวมทั้งการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นบริเวณข้อกระดูก

  4. ตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูก ต่อมลูกหมาก และกระเพาะปัสสาวะ

  5. ตรวจหาความผิดปกติต่างๆ บริเวณทรวงอก หัวใจ ช่องท้อง ท้องและเต้านมสตรี

     

ขั้นตอนการเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์เอ

  1. ถอดเครื่องประดับ, ฟันปลอมและอุปกรณ์ที่เป็นโลหะทุกชนิดออกให้หมดก่อนเข้ารับการตรวจ

  2. หากผู้ป่วยที่กลัวที่แคบ จะต้องแจ้งให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทราบก่อน อาจจำเป็นต้องได้รับยาระงับความรู้สึก เพื่อให้สามารถอยู่นิ่งขณะตรวจได้ โดยหากจำเป็นต้องได้รับยาระงับความรู้สึกก่อนตรวจ ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

  3. หากตั้งครรภ์ต้องแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทราบเสมอ อาจจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในการตรวจอีกครั้ง เพราะต้องคำนึงถึงผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นก่อนเสมอ

  4. ผู้ป่วยที่มีการฝังโลหะในร่างกาย เช่น คลิ๊บติดเส้นเลือดโป่งพองในสมอง, ลิ้นหัวใจเทียมที่ทำจากโลหะ เป็นต้น ไม่สามารถเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอได้

  5. ไม่ควรใช้อายชาโดว์ และมาสคาร่า เพราะอาจมีส่วนผสมของโลหะ ทำให้เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในภาพได้

  6. ผู้ป่วยที่ใส่เหล็กดัดฟัน หากต้องตรวจบริเวณสมองถึงกระดูกคอควรต้องถอดเอาเหล็กดัดฟันออกก่อน เพราะจะมีผลต่อความชัดของภาพ