ฝีในตับ (Amebic liver abscess)

ฝีในตับ (Amebic liver abscess)

ฝีในตับ หมายถึงฝีในเนื้อตับ ที่เกิดจากเชื้ออะมีบา โรคนี้ยังพบได้ไม่น้อยในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี (ไม่มีส้วมใช้ ไม่มีน้ำสะอาดดื่ม มีแมลงวันชุกชุม)

พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 6-7 เท่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-50 ปี

 

สาเหตุ

เกิดจากเชื้ออะมีบาที่มีชื่อว่า เอนตามีบา ฮิสโตไลตาคา (Entamoeba histolytica) ซึ่งทำให้เกิดโรคบิดอะมีบา เชื้อนี้เข้าไปทำให้เกิดฝีในเนื้อตับ จึงมักเรียกว่า ฝีบิดในเนื้อตับ มักเป็นฝีหัวเดียว หลายหัวพบได้น้อย ระยะฟักตัวไม่แน่นอน ผู้ป่วยอาจมีประวัติเป็นบิดอะมีบามาก่อนในระยะใกล้ ๆ หรืออาจนานเป็นปีหรือสิบ ๆ ปี บางคนอาจไม่มีประวัติเป็นบิดมาก่อนเลยก็ได้

 

อาการ

  • ไข้สูง หนาวสั่น เหงื่อออก อ่อนเพลีย

  • เบื่ออาหาร อาเจียน เสียดแน่นตรงใต้ลิ้นปี่

  • ปวดบริเวณชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวมาที่หัวไหล่ขวา มักปวดอย่างรุนแรง ขยับเขยื้อนหรือแตะถูกจะรู้สึกเจ็บมาก

  • อาจไอออกมาเป็นหนองสีกะปิ หรือหายใจหอบ

  • หากเป็นเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการขาดน้ำ ขาดอาหาร ซูบผอม และบวมจากการขาดสารโปรตีน

 

ภาวะแทรกซ้อน

ฝีอาจเข้าไปในปอด ช่องเยื่อมหุ้มหัวใจหรือช่องท้อง ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือเยื่อบุช่องท้องอักเสบ เป็นอันตรายถึงตายได้

 

การรักษา

  • รักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ

  • รักษาตามอาการ เช่น ให้น้ำเกลือถ้ามีภาวะขาดน้ำ บำรุงด้วยอาหารพวกโปรตีนหากสงสัยว่ามีภาวะขาดโปรตีน เป็นต้น