ตับแข็ง (Cirrhosis)

ตับแข็ง (Cirrhosis)

โรคตับแข็งเกิดจากการที่เนื้อตับไดรับบาดเจ็บจากการอักเสบเป็นเวลานาน ทำให้เกิดพังผืดไปเบียดเนื้อตับที่ดี และทำให้เลือดไปเลี้ยงตับน้อยลง ถ้ามีการทำลาย เซลล์ตับอย่างเรื้อรังจนมีพังผืดเกิดขึ้นมาก เนื้อตับที่เคยนุ่มจะค่อยๆ แข็งขึ้น จนกลายเป็น “ตับแข็ง” ในที่สุด ส่งผลให้สมรรถภาพการทำงานของตับลดลง ซึ่งนำมาสู่สุขภาพร่างกายแย่ลง

 

สาเหตุที่เซลล์ตับถูกทำลาย

  1. มักจะเกิดจากการดื่มสุราจัดติดต่อกันเป็น เวลานาน

  2. เกิดภาวะตับอักเสบและเรื้อรังจนกลายเป็นโรคตับแข็ง

  3. การใช้ยาบางชนิดติดต่อกันนานๆ

  4. ผู้ที่อ้วน มีไขมันพอกตับเป็นเวลานาน

 

อาการของโรคตับเเข็ง

  • อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย

  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นบางครั้งน้ำหนักลด

  • เจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย

  • เนื้อตัวและนัยน์ตาเหลือง

  • คันตามตัว

  • ความรู้สึกทางเพศลดลง

  • ในผู้หญิงอาจมีอาการประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น หรือมีเสียงแหบแห้งคล้ายผู้ชาย

  • ในผู้ชายอาจรู้สึกนมโตและเจ็บ อัณฑะฝ่อตัว

  • บางคนอาจสังเกตเห็นฝ่ามือแดงผิดปกติ หรือมีจุดแดงที่หน้าอก หน้าท้อง

  • หากมีอาการรุนแรงอาจมีท้องมาน เท้าบวม เห็นหลอดเลือดพองที่หน้าท้อง อาเจียนเป็นเลือดสดๆ

 

การรักษาโรคตับเเข็ง

โรคตับแข็งนี้ไม่มีทางรักษาให้หายขาด เพราะเซลล์ตับที่ถูกทำลายไปแล้ว ไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ แต่สามารถชะลอหรือหยุดการทำลายตับได้ ถ้าเป็นตับแข็งระยะเริ่มแรก และปฏิบัติตัวได้เหมาะสม ซึ่งจะสามารถมีชีวิตได้นานเกิน 5-10 ปีขึ้นไป แต่ถ้าปล่อยให้มีภาวะแทรกซ้อนชัดเจน เช่น ดีซ่าน ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด ก็จะมีชีวิตสั้น อาจอยู่ได้ 2-5 ปี

 

การป้องกันโรคตับแข็ง

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก และสะอาด

  • รับประทานอาหารใหปริมาณที่พอเหมาะ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักและรอบเอวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

  • ใช้ช้อนกลางทุกครั้งที่ต้องรับประทานอาหารร่วมกับคนอื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ

  • รับประทานยาหรืออาหารเสริมทุกครั้งจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

  • พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ

  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888